วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การขับซอ

ขับลำ ขับซอ เพลงพื้นบ้านแห่งลุ่มน้ำโขง


             เพลงพื้นบ้านเป็นพัฒนาการหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์ เมื่อมนุษย์รวมกลุ่มกันเป็นชนเผ่า มีภาษาสื่อสารระหว่างกัน มีเวลาที่จะคิดสร้างสรรความบันเทิงเพื่อให้ความสนุกสนาน แก่สมาชิกในสังคม เพลงพื้นบ้านเป็น ประดิษฐกรรมทางสุนทรีย์แรกๆ ของมนุษย์ที่เริ่มจากการร้องออกมาเป็นเพลงใช้เสียงปรบมือหรือเสียงเคาะเป็นจังหวะกำกับ ต่อมาในบางท้องที่ได้สร้างเครื่องดนตรีมาเพื่อใช้บรรเลงประกอบ ทำให้เพลงพื้นบ้านมีความไพเราะมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูและส่งเสริมเพลงพื้นบ้านของชนชาติไทแห่งลุ่มน้ำโขงและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการแสดงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงได้จัดการ แสดง “ขับลำ ขับซอ เพลงพื้นบ้านแห่งลุ่มน้ำโขง” ขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม 2551 เวลา 16.00 – 20.00 น. ที่ผ่านมาณ หอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน
ซึ่งใน การแสดงทางวัฒนธรรมในวันดังกล่าวมีทั้งการบรรยายและ การสาธิตเพลงพื้นบ้าน ซึ่งในการแสดงครั้งนี้ จะนำเสนอเพลงพื้นบ้านของชนชาติไทสองกลุ่ม คือ “ขับลำ” ของชนชาติไทอีสาน กับ “ขับซอ” ของชนชาติไทล้านนา“ไท” กลุ่มต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง ได้สร้างสรรความบันเทิงที่เรียกว่า “เพลงพื้นบ้าน” ของตนขึ้นมา อาทิไทลื้อ สิบสองปันนา มี “ขับ” หรือ บางทีก็เรียก “ขับลื้อ” ไทล้านนา มี “ซอ” ไทใหญ่มี “เสิน” ไทล้านช้างทางเหนือ มี “ขับ” เช่น ขับทุ้มหลวงพระบาง ขับเชียงขวาง ขับซำเหนือ ไทล้านช้างทางไต้ มี “ลำ” เช่น ลำสีพันดอนลำมะหาไชย ลำตังหวาย ไทอีสาน คือกลุ่มคนที่แยกตัวมาจากไทล้านช้าง แล้วถูกผนวกให้เข้ามาอยู่ในอาณาเขตของสยามตั้งแต่เมื่อเกิดรัฐชาติ (Nation State) ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา “ไท” กลุ่มนี้มีเพลงพื้นบ้านเรียกว่า “ลำ” เช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็น “ขับ ซอ เสิน ลำ” ต่างก็เป็นเพลงพื้นบ้านของชนชาติไทกลุ่มต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง วัฒนธรรมและคำดังกล่าวเมื่อถูกถ่ายทอดให้แก่ชาวสยามแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งพื้นฐานนั้นก็เป็นชนชาติ “ไท” เช่นเดียวกัน ชนกลุ่มดังกล่าวได้มาสร้างสรรเพลงพื้นบ้านของตนนั่นคือ “เสภา” ความหมายเดิมของ “ขับ ซอ เสิน ลำ”หรือแม้แต่ “เสภา” ล้วนเหมือนกัน คือหมายถึง “เพลงพื้นบ้าน” ซึ่งเป็นคำนาม ต่อมาคำว่า “ขับ” มีความหมายเพียง เฉพาะการ “การร้อง” ซึ่งมีความหมายไปในทางคำกิริยาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้คำว่า “ขับ” จึงถูกนำมาใช้เรียกการแสดงเพลงพื้นบ้านของชนชาติไท จึงกลายมาเป็น “ขับลำ ขับซอ” หรือแม้กระทั่ง “ขับเสภา” ของไทสยามการ “ขับ” เพลงพื้นบ้านของชนชาติไทนั่น จะได้รับความสนใจหรือไม่

 ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ “5 ดี” คือ
- เสียงดี หมายถึง เสียงร้องของศิลปินต้องดังกังวานไพเราะเพราะพริ้ง
- ทำนองดี หมายถึง การเลือกทำนองที่เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอด เพราะ ทำนองเป็นเรื่องของอารมณ์
- โวหารดี คือ เนื้อเพลงที่ร้องต้องถูกต้องฉันทลักษณ์ และมีโวหารประทับใจซึ่งเป็นเรื่องของทักษะ
ทางกวีนิพนธ์ เป็นเรื่องความงามทางภาษา
- ปฏิภาณดี คือ ความสามารถด้นกลอนสดๆ ซึ่งในภาคอีสานเรียกว่า “แตกลำ” ทางภาคเหนือเรียกว่า
“ซอเก็บ”
- ดนตรีดี คือ ดนตรีที่บรรเลงประกอบต้องเสียงเพราะและผู้บรรเลงมีฝีมือดี

“ลำ” เพลงพื้นบ้านไทอีสานไทอีสานกับไทล้านช้างโดยเฉพาะที่อยู่ในเขตลาวใต้แม้จะถูกแยกจากกันโดยรัฐชาติ แต่ไม่อาจตัดขาดจากกันทางวัฒนธรรม ในเมื่อ “ลำ” เป็นเพลงพื้นบ้านของลาวใต้ “ลำ” ก็เป็น เพลงพื้นบ้านของไทอีสานเช่นกัน เพียงแต่มีการสร้างสรรลีลาและท่วงทำนองให้มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของตน ท่วงทำนองในการ “ขับลำ” ของไทอีสานมีทั้งหมด 4 ทาง หรือที่เรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “วาด” ประกอบด้วย วาดอุบล วาดขอนแก่น วาดพุทไธสง วาดภูเขียว ดังที่กล่าวมาแล้วว่า “ลำ” คือเพลงพื้นบ้านไทอีสาน ซึ่งนอกจากจะมีทำนองร้อง 4 ทำนองหลักแล้ว การ “ลำ” ยังมีรูปแบบการนำเสนอแยกย่อยไปอีก เช่น ลำล่อง หรือลำเดี่ยว มักจะใช้เพื่อพรรณาความหรือตอนบทลาลำคู่ คือการลำคู่ชาย-หญิง เพื่อตอบโต้กัน ลำเต้ย เป็นอีกหนึ่งทำนองลำ แยกย่อยออกเป็น เต้ยพม่า เต้ยโขง เต้ยหัวโนนตาล ลำเพลิน พัฒนาการล่าสุดของ “ลำ” มีจังหวะรวดเร็วเร้าใจในการแสดง “ขับลำ” ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติคือ ฉวีวรรณ ดำเนิน และ ป.ฉลาดน้อย ทั้งสองท่านเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงและเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้นการขับลำครั้งนี้จะเป็นลีลาแบบ “วาดอุบล” รวมทั้งมีศิลปินรุ่นใหม่ที่มาสาธิตการขับลำแบบ “วาดขอนแก่น” ด้วย


“ขับซอ” เพลงพื้นบ้านไทล้านนา

“ขับซอยอราชเยื้อง ทุกเมือง
ลือเล่าพระลอเรือง ทั่วหล้า”

ลิลิตพระลอ

“ขับซอ” หรือ “ซอ” เป็นเพลงพื้นบ้านของไทล้านนา มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มเชียงใหม่ มีหลายทำนองเริ่มจากทำนอง ตั้งเจียงใหม่ ตามด้วย จะปุ และละม้าย
นอกนั้นก็มีทำนอง พม่า เงี้ยว อื่อ พระลอ ปั่นฝ้าย ฯลฯการขับซอของกลุ่มนี้ใช้ “ปี่” เป็นเครื่องดนตรีประกอบส่วนมากจะใช้ปี่ 3 เลาที่ต่างเสียงกัน เรียกว่า “ปี่จุม 3”
ปัจจุบันนิยมเอาซึงมาบรรเลงร่วมอีก 1 ตัว ช่วยทำให้เสียงดนตรีเพราะมากยิ่งขึ้น การขับซอประเภทนี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคเหนืออีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มน่าน หรือบางทีเรียกว่า “ซอล่องน่าน” ซอประเภทนี้มี 2 ทำนองหลัก คือ ล่องน่านกับ ลับแล การขับซอของกลุ่มนี้จะใช้สะล้อ และซึ่ง เป็นเครื่องดนตรีประกอบ แต่เดิมนิยมกันเฉพาะจังหวัดน่านและจังหวัดแพร่ ปัจจุบันได้แพร่หลายไปทั่วภาคเหนือในการแสดง “ขับซอ” ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากแม่บัวซอน เมืองป้าว ศิลปินซออาวุโส ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มานาน ได้รับรางวัลเกียรติยศ “ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม” จากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ พร้อมด้วยศิลปินชายคือ มานพ ปริญญาศิลป์ ศิลปินซออาชีพที่โด่งดังของภาคเหนือ ทั้งสองท่านได้แสดงการขับซอ เริ่มจากทำนอง ตั้งเจียงใหม่ จะปุ ละม้าย พม่า เงี้ยว อื่อ พระลอ
การแสดง “ขับซอ” ในวันนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการสาธิตการ “ขับซอล่องน่าน” ให้ชมอีกด้วย โดยได้รับเกียรติจากศิลปินซอล่องน่านที่มีชื่อเสียง นำโดย ลำดวน เมืองแป้ มาจัดแสดง พร้อมสาธิตท่าร่ายรำในแบบเฉพาะช่วงท้ายของการแสดงเป็นการประชันกันระหว่าง แม่ฉวีวรรณ และแม่บัวซอน ในการขับทำนองเพลงพม่า ทั้งขับแบบล้านนาในทำนองซอพม่า และเต้ยพม่าในฉบับอีสานด้วย นับว่าในการแสดงครั้งนี้เราได้เสพสิ่งที่ชวนรื่นเริงทั้งทางใจและทางกาย โดยศิลปินแห่งชาติทั้งหลายได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่มีคุณค่าควรอนุรักษ์สืบทอดต่อไป

ที่มา http://www.sac.or.th/main/activities_detail.php?lecture_id=120&category_id=7

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น