วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รำตังหวาย

ลำตังหวาย Lum tung wai


การฟ้อนตังหวาย ฟ้อนตังหวายนั่นมีที่มาอยู่ 2 ลักษณะ ได้แก่

1 ฟ้อนตังหวายเป็นฟ้อนเพื่อบวงสรวงบูชา โดยเฉพาะชนชาติที่อาศัยอยู่ ตามแถบลุ่มแม่น้ำโขงมีความเชื่อและยึดมั่นในการ นับถือเทวดาฟ้าดิน ภูติผีวิญญาณ ต้นไม้ใหญ่ จอมปลวก งูใหญ่ หนองน้ำใหญ่ เป็นต้น และเข้าใจว่าสิ่งที่ตนให้ความนับถือนั้นสามารถ จะบันดาลให้เกิดผลสำเร็จ หรือเมื่อเกิดอะไรที่ผิดจากธรรมดาขึ้นมาก็เข้าใจว่าสิ่งที่ตนนับถือโกรธจึงบันดาลให้เป็นไปอย่างนั้น


จึงจัดให้มีการบวงสรวงบูชา หรือจัดให้มีพิธีขอขมาขึ้นมาเพื่อขอให้มีโชคลาภ โดยมีหัวหน้าเป็นผู้บอกกล่าวกับสิ่งนั้นโดยผ่านล่ามเป็นผู้บอกขอขมา มีการฆ่าสัตว์ ไก่ หมู วัว ควาย และสิ่งอื่นๆ ตามกำหนดเพื่อนำมาบูชาเทพเจ้าหรือเจ้าที่เจ้าทางที่ตนเองนับถือ เท่านั้นยังไม่พอได้มีการตั้งถวาย ฟ้อนรำถวายเป็นการเซ่นสังเวย พอถึงฤดูกาลชาวบ้านต่างจะนำเอาอาหารมาถวายเจ้าที่เจ้าทาง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยถือว่าปีใด “ขนไก่ ไม่ตก ขนนก ไม่หล่น” ก็ถือว่าปีนั้นดี เทวดาจะให้ความคุ้มครอง จะต้องมีการจัดฉลองใหญ่โดยมีการ “ตั้งถวาย ฟ้อนรำถวาย” แต่ต่อมาคำว่า “ตั้งถวายฟ้อนถวาย” คำนี้ได้สึกกร่อนไปตามความนิยมเหลือเพียงคำสั้นๆ ว่า “ตั้งหวาย” หรือ “ตังหวาย”

2 ฟ้อนตังหวายกับลำตังหวาย ลำตังหวายเป็นทำนองลำของหมอลำในแคว้นสวันนะเขต คำว่า ตังหวาย น่าจะมาจากคำว่า “ตั่งหวาย” ซึ่งในสูจิบัตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมของคณะศิลปินและกายกรรมแห่งชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็ใช้คำว่า “ขับลำตั่งหวาย” คำว่า “ตั่งหวาย” ถ้าพิจารณาตามความหมายของคำแล้ว คำว่า “ตั่ง” หมายถึงที่สำหรับนั่งไม่มีพนัก อาจมีขาหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น “ตั่งหวาย” น่าจะหมายถึง ที่นั่งที่ทำมาจากหวาย
จึงสันนิษฐานว่า การลำตั่งหวายเป็นทำนองลำที่นิยมลำของหมอลำในหมู่บ้านที่มีอาชีพผลิตตั่ง หวายออกจำหน่าย แต่เมื่อทำนองลำนี้เผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยจึงกลายมาเป็น “ลำตังหวาย” ลำตังหวายเป็นทำนองลำที่มีความเร้าใจ สนุกสนานและมีความไพเราะเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะลักษณะของกลอนลำจะมีการยกย่องทั้งฝ่ายชายและหญิง กลอนลำมีลักษณะโต้ตอบกัน จะมีคำสร้อยลงท้าย เช่นคำว่า หนาคิงกลม คนงามเอย ซำบายดี และคำขึ้นต้นว่า ชายเอย นางเอย
การฟ้อนที่อ่อนช้อยของตังหวายนี้ นายประดิษฐ์ แก้วชิณ ได้พบเห็นการแสดงที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เห็นว่ามีลีลาการแสดงอ่อนช้อยงดงามน่าจะฟื้นฟูจึงได้นำมาทดลองฝึกให้เด็กรำ เห็นว่าเหมาะสมดี จึงได้นำชุดฟ้อนนี้ออกแสดงในงานปีใหม่ ที่ทุ่งศรีเมือง ในปี พ.ศ. 2514 ต่อมา อาจารย์ศิริเพ็ญ อัตไพบูลย์ หัวหน้าภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี นำต้นแบบมาดัดแปลงท่ารำให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แล้ววงโปงลางวิทยาลัยครูอุบลราชธานีได้นำออกมาแสดงจนเป็นที่นิยมและเป็น เอกลักษณ์ของวงมาจนบัดนี้

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงเป็นหญิงล้วนเครื่องแต่งกายนิยมใช้อยู่ 2 แบบ คือ

1. สวมเสื้อแขนกระบอกสีพื้น นุ่งผ้าถุงมัดหมี่คาดเข็มขัดเงินทับ ผมเกล้ามวย ใช้ฝ้ายสีขาวมัดผมคล้ายอุบะ
2. ใช้ผ้าแพรวารัดอกทิ้งชายทั้งสองข้าง นุ่งผ้าถุงมัดหมี่ยาวครึ่งแข้ง เกล้าผมมวยใช้ผ้ามัดหรือใช้ดอกไม้ประดับรอบมวยผม

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน (โปงลาง) ทำนองลำตังหวาย

ที่มา:http://www.baanmaha.com/%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2-lum-tung-wai/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น